สติปัฏฐาน 4

สติปัฏฐาน4 หมายถึงข้อธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติ ใช้สติเป็นประธานในการกำหนดระลึกรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงโดยไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย ซึ่งจะทำให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง จุดประสงค์ของการทำ สติปัฏฐาน4 ก็เพื่อฝึกสติ และใช้สตินั้นพิจารณาและรู้เท่าทันในกาย เวทนา จิต และธรรม เพื่อให้เกิดความคลายกำหนัด ละวางซึ่งตัณหาและอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน4 หมวดแรกคือ ฐานกาย หรือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติกำหนด พิจารณากาย ให้เห็นกายในกาย คือเห็นตามความเป็นจริงของกาย เช่น เห็นว่ากายเป็นเพียงการรวมตัวกันของธาตุทั้งสี่ คือดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อจับธาตุต่าง ๆ แยกออกจากกัน สิ่งที่เรียกว่าร่างกายก็จะหายไป 

วิธีการปฏิบัติกายานุปัสสนา ขั้นแรกให้ฝึกการมีสติ โดยฝึกดูลมหายใจที่หายใจเข้า ที่หายใจออก อย่างมีสติ หรือมีสติอยู่ในอิริยาบถของกาย แล้วใช้สตินั้นในการพิจารณากายในแบบต่าง ๆ ตลอดจนการเกิด – ดับต่าง ๆ ของกาย ฯลฯ เพื่อให้เกิดนิพพิทา คือเกิดความเบื่อหน่ายในกายว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งเป็นการตัดตัณหาและอุปาทานโดยตรง

การปฏิบัติกายานุปัสสนาสามารถแบ่งได้ 6 แบบ
1) อานาปานสติ เน้นที่การมีสติ ตามรู้ ตามดูลมหายใจเข้าออกแบบต่าง ๆ สังเกตเห็นอาการของลมหายใจ
2) อิริยาบถ คือกำหนดสติให้ระลึกรู้ในอิริยาบถอาการต่าง ๆ ของกาย เช่น เดิน นอน ยืน นั่ง ฯลฯ เป็นการปฏิบัติที่ทำได้ตลอดเวลา เหมาะกับการดำรงชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน
3) สัมปชัญญะ ความรู้ตัว คือปัญญาในการมีสติต่อเนื่องในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น เดิน ดื่ม กิน ถ่าย วิ่ง ตื่น หลับ ฯลฯ เป็นการมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ใช้แค่ขณิกสมาธิเป็นเบื้องต้น
4)ปฏิกูลมนสิการ เมื่อมีสติในสิ่งดังกล่าวข้างต้นจิตจะหยุดฟุ้งซ่าน จากนั้นใช้สติและจิตที่ตั้งมั่นนั้นไปพิจารณาส่วนต่าง ๆ ของร่างกายว่าล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล สกปรก โสโครก จนเกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่าย
5) ธาตุมนสิการ พิจารณาตามความเป็นจริงของกายนี้ว่า เป็นเพียงก้อนของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
6) นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่าง ๆ กัน เพื่อให้เห็นความจริงของร่างกาย

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน4 หมวดต่อมาคือ ฐานเวทนา หรือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การเสวยอารมณ์ ความรู้สึก เช่น ความรู้สึกชอบไม่ชอบ หรือเฉย ๆ การทำเวทนานุปัสสนา คือการมีสติกำหนดพิจารณาเวทนา อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทบคือผัสสะ ให้เห็นเวทนาในเวทนาคือ เห็นตามความเป็นจริงของเวทนาว่า เวทนาเป็นเพียงการรับรู้ การเสพรสอารมณ์ที่มากระทบสัมผัสทั้งทางใจและกาย คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นกระบวนการแห่งธรรมชาติ พิจารณาให้เห็นว่าเมื่อผัสสะกระทบย่อมเกิดเวทนา เกิดความสุข ความทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นธรรมดาทุกครั้งไป ให้เห็นความจริงดังนี้ ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จิตก็จะคลายความยึดถือลงไปได้ เกิดอุเบกขาเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปนึกคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่าน ซึ่งจะเป็นการสร้างเวทนาขึ้นมาอีก

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน 

สติปัฏฐาน4 หมวดที่สามคือ ฐานจิต หรือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือที่คุ้นเคยกับคำว่า การดูจิต การดูจิตก็คือการมีสติระลึกรู้เท่าทัน พิจารณาความนึกคิด อารมณ์ที่เข้ามาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งราคะ โทสะ โมหะ ฟุ้งซ่าน ทั้งในด้านมืดและด้านสว่าง โดยมีสติตามรู้สภาพเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ ตามรู้ตามดูสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยใจที่อุเบกขาเป็นกลาง ไม่เข้าไปปรุงแต่งเพิ่มเมื่อตามรู้ ตามพิจารณาไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นการเกิด-ดับในทุกสิ่ง สัมผัสกับความไม่เที่ยงแท้ การปฏิบัติเมื่อทำต่อเนื่อง ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ สติจะคมชัด

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน4 หมวดสุดท้ายคือ ฐานธรรม หรือ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 อริยสัจ 4 ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ

 

 

ที่มา https://amarinbooks.com

วัดท่าม่วง เลขที่ 56 หมู่ 9 ตำบลคู้ยายหมี อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา 24160